รู้จักเรา

เพราะเราเชื่อว่า “การค้นพบ” (Discovery) เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้มนุษยชาติก้าวเดินไปข้างหน้า ซัมซุง (Samsung) จึงนำมาเป็นหนึ่งในแนวคิดหลักที่ยึดถือปฏิบัติ และเป็นรากฐานสำคัญที่ทำให้เราเติบโตเป็นองค์กรระดับโลก เกิดเป็นแรงบันดาลใจให้นำมาพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้คนทั่วโลก เราจึงผสานแนวคิดดังกล่าวเข้าสู่นโยบายความรับผิดชอบต่อสังคม (CSR-Corporate Social Responsibility) เพื่อส่งเสริมการเรียนรู้รูปแบบใหม่ที่ส่งผลต่อการค้นพบ

ในประเทศไทย บริษัท ไทยซัมซุง อิเลคโทรนิคส์ จำกัด ได้สานต่อแนวคิดดังกล่าว และริเริ่มโครงการ ซัมซุง สร้างพลังการเรียนรู้สู่อนาคต (Samsung Smart Learning Center)  มาตั้งแต่ปี 2556 ซึ่งมีเป้าหมายในการส่งเสริม “ทักษะแห่งศตวรรษที่ 21” (21st Century Skills) ให้กับเด็กและเยาวชนไทยทั่วประเทศ ผ่านการสร้างนวัตกรรมการเรียนรู้ในชื่อ “ห้องเรียนแห่งอนาคต” โดยนำเทคโนโลยีของซัมซุงมาเป็นเครื่องมือออกไปสำรวจโลกกว้าง ผ่านกระบวนการที่เอื้อให้ผู้เรียนได้ค้นพบศักยภาพของตนเอง

โครงการฯ ในปี 2556 มีโรงเรียนนำร่องทั้งหมด 10 แห่งจากทั่วประเทศ เพิ่มอีก 15 แห่งในปี 2557 และมีเป้าหมายให้เกิดขึ้นเป็น 40 แห่งภายในปี 2558 โดยหวังว่าจะสร้างต้นแบบการจัดการเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21 ซึ่งเป็นครั้งแรกที่นำแนวคิดจากสากลมาให้เข้ากับบริบทสังคมในประเทศไทย

เมื่อโลกเปลี่ยน การศึกษาจึงต้องปรับ

ความก้าวหน้าของเทคโนโลยีสารสนเทศเป็นปัจจัยสำคัญที่ผลักดันให้โลกยุคใหม่เกิดการเปลี่ยนแปลงขนานใหญ่ ภาคเศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนด้วยข้อมูล ความรู้ และนวัตกรรม ได้เข้ามาแทนที่ภาคเศรษฐกิจอุตสาหกรรม งานแบบที่ใช้สมองและอาศัยปฏิสัมพันธ์เข้ามีบทบาทมากยิ่งขึ้น เทคโนโลยีเข้ามาแทนที่แรงงานแบบซ้ำซาก รวมถึงถูกใช้เพื่อช่วยพนักงานที่มีทักษะขั้นสูงให้เพิ่มผลผลิตได้มากขึ้นและสร้างสรรค์ยิ่งขึ้น ผู้ที่สามารถปรับตัวด้วยการใช้ทักษะด้านการสื่อสาร การแก้ไขปัญหา และการคิดเชิงวิพากษ์เพื่อปรับเปลี่ยนการทำงานให้สอดคล้อง ก็จะได้รับผลตอบแทนคือความก้าวหน้าของอาชีพ

การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นทำให้ความสำเร็จในโรงเรียนไม่เพียงพอต่อความมั่นคงในอาชีพ และกล่าวได้ว่า คนที่มีความรู้และทักษะในการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงเท่านั้นที่จะประสบความสำเร็จ

เมื่อห้องเรียนสี่เหลี่ยมขนาดกว้าง × ยาวไม่มากนัก เริ่มแคบเกินกว่าความสนใจใคร่รู้ของนักเรียน นักการศึกษาจำนวนมากจึงตั้งคำถามว่า การจัดการศึกษาแบบที่เคยเป็นมาอาจไม่ตอบโจทย์โลกในศตวรรษใหม่ จนสถานศึกษาหลายแห่งในประเทศฝั่งตะวันตกได้เปลี่ยนมาจัดการศึกษาโดยมุ่งเน้น “กระบวนการเรียนรู้” มากกว่าเน้นที่ “ความรู้” กระทั่งเกิดเป็นแนวคิด “ทักษะแห่งศตวรรษที่ 21” (21st Century Skills) นั่นคือ การผสานความรู้ทางวิชาการเข้ากับทักษะสำคัญที่เด็กจำเป็นต้องพัฒนา อันได้แก่ ทักษะการเรียนรู้และนวัตกรรม (Learning and Innovation Skills – 4Cs) ทักษะชีวิตและการทำงาน (Life and Career Skills) ทักษะด้านสารสนเทศ สื่อและเทคโนโลยี (Information, Media and Technology Skills) ที่จะทำให้เด็กมีความสามารถในการสื่อสาร การแก้ปัญหา การคิดในเชิงวิพากษ์ ซึ่งการมีทักษะเหล่านั้นก็เพื่อพร้อมรับมือกับความเปลี่ยนแปลงในโลกแห่งอนาคต

“ห้องเรียนแห่งอนาคต” ของซัมซุง

“ห้องเรียนแห่งอนาคต” (SSLC) เป็นการปรับสภาพแวดล้อมในห้องสี่เหลี่ยมให้เอื้อต่อการเรียนรู้อันเปิดกว้าง พร้อมกับส่งเสริมให้นักเรียนมี “ทักษะแห่งศตวรรษที่ 21” ผ่านการเรียนการสอนรูปแบบใหม่ ที่เอื้อให้เกิดการคิดริเริ่ม ฝึกการทำงานร่วมกับผู้อื่น ซึ่งอาจนำไปสู่การค้นพบบางแง่มุมที่มีคุณค่า โดยอาศัยเทคโนโลยีของซัมซุงมาเป็นเครื่องมือในการค้นคว้าข้อมูลได้หลากหลายและรวดเร็ว เปลี่ยนการเรียนรู้ของเด็กๆ จากผู้รับฟัง (Passive Learner) มาเรียนรู้สิ่งต่างๆ ได้ด้วยตัวเอง (Self Learner) พร้อมกันนั้น ผู้บริหาร ครู และผู้เกี่ยวข้องในระบบการศึกษา ยังได้ก้าวข้ามข้อจำกัดและความคุ้นชินเดิมๆ เพื่อปรับเปลี่ยนวิธีการสอนให้สอดคล้องกับยุคสมัย โดยเฉพาะครูผู้สอนที่ได้ปรับเปลี่ยนวิธีคิดจากผู้บรรยาย (Lecturer) มาเป็นผู้ให้คำปรึกษา (Coach) โดยไม่ชี้นำความถูก-ผิด ซึ่งมักเข้ามาบดบังจินตนาการของนักเรียน

การดำเนินงานของโครงการฯ ได้พัฒนาระบบสนับสนุนการจัดการศึกษา โดยคำนึงถึงองค์ประกอบที่สำคัญ 6 ด้านในการจัดการเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21 ได้แก่

1. สร้างสภาพแวดล้อมในการเรียนรู้ใหม่ – ด้วยการออกแบบสภาพแวดล้อมในการเรียนรู้ใหม่ที่เปิดพื้นที่ให้สามารถทำงานรวมกลุ่ม สามารถสร้างสรรค์และนำเสนอผลงาน

2. การเข้าถึงเทคโนโลยี – ด้วยการสร้างโอกาสในการเข้าถึงเทคโนโลยีสามารถสืบค้นข้อมูล ผลิตสื่อและเรียนรู้ได้ทุกที่ ทุกเวลา (Mobility) โดยไม่จำกัดอยู่เพียงในห้องเรียน

3. หลักสูตรและกระบวนการเรียนรู้สำหรับศตวรรษที่ 21 – ที่สนับสนุนให้เกิดกระบวนการเรียนรู้ด้วยการใช้ปัญหาเป็นฐาน (PBL-Problem-Based Learning) เพื่อให้เด็กฝึกตั้งคำถามกับสิ่งรอบตัวและค้นหาคำตอบและเรียนรู้ได้ด้วยตัวเอง

4. การพัฒนาครู – ด้วยการปรับวิธีเรียน เปลี่ยนวิธีสอน โดยเปลี่ยนครูจากการเป็นผู้บรรยาย สู่การสนับสนุนและเรียนรู้ร่วมกันกับเด็ก

5. เตรียมความพร้อมเด็ก – ให้ทดลองการเรียนในวิธีใหม่ให้พร้อมที่จะรับผิดชอบต่อการเรียนรู้ด้วยตัวเอง

6. การวัดและประเมินผล – ตามแนวทางศตวรรษที่ 21 เปลี่ยนจากการที่ครูเป็นผู้ประเมินให้เด็กเป็นผู้ประเมินตนเอง

หวังเป็นอย่างยิ่งว่า การเกิดขึ้นของโครงการ ซัมซุง สร้างพลังการเรียนรู้สู่อนาคต (Samsung Smart Learning Center) จะเป็นจุดเริ่มต้นสำคัญในการเปิดโลกให้เด็กและเยาวชนไทยค้นพบศักยภาพของตนเอง เพื่อเตรียมความพร้อมสู่ศตวรรษที่ 21 ได้อย่างเข้มแข็งและยั่งยืน