

จุดเริ่มต้นห้องเรียนบูรณาการอิสลามศตวรรษที่ 21
ในปี 2559 โรงเรียนศาสนศึกษาได้เข้าร่วมโครงการ Samsung Smart Learning Center “ซัมซุง สร้างพลังการเรียนรู้สู่อนาคต” ซึ่งมีเป้าหมายเพื่อส่งเสริมการพัฒนาทักษะแห่งศตวรรษที่ 21 ให้กับเด็กและเยาวชนไทยทั่วประเทศ ผ่านแนวคิด “ห้องเรียนแห่งอนาคต” โดยนำเอาเทคโนโลยีและนวัตกรรมของซัมซุงมาหนุนเสริมผู้เรียน ร่วมกับการใช้กระบวนการจัดการเรียนรู้ที่ผู้เรียนมีส่วนร่วมแบบ Active Learning และครูทำหน้าที่เป็นโค้ชหรือผู้อำนวยกระบวนการเรียนรู้
ครูสุนันต์ สะซีลอ และ ครูนาซีฮา ยูโซ๊ะ จากโรงเรียนศาสนศึกษา ได้เข้ารับการอบรมกับทางโครงการฯ เพื่อพัฒนากระบวนการจัดการเรียนรู้รูปแบบใหม่ โดยหลังจากการเข้ารับการอบรม ครูทั้ง 2 ท่าน ได้ก่อตั้งชุมนุม Samsung Discovery Club ขึ้นในโรงเรียน โดยนำกระบวนการจัดการเรียนรู้ของโครงการฯ มาใช้จัดกิจกรรมกับนักเรียน ซึ่งผู้บริหารและครูที่เกี่ยวข้องพบว่า นักเรียนในชุมนุมมีพัฒนาการและมีความเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้น พวกเขาได้พัฒนาทักษะที่จำเป็นหลายทักษะในเวลาเดียวกัน โดยเฉพาะความสามารถในการสื่อสารความคิด ความกล้าแสดงออก ที่ถือได้ว่าเป็นจุดอ่อนของนักเรียนใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้
เมื่อผู้บริหารและครูมั่นใจว่า แนวคิด “ห้องเรียนแห่งอนาคต” สามารถเปลี่ยนแปลงนักเรียนได้จริง จึงนำมาใช้เป็นแนวทางในการพัฒนา “ห้องเรียนบูรณาการอิสลามศตวรรษที่ 21” ทางโรงเรียนได้จัดตั้งทีมครูรุ่นใหม่เป็นแกนนำในการจัดทำหลักสูตร พร้อมทั้งปรับปรุงอาคารเรียนและสภาพแวดล้อมในโรงเรียนเพื่อให้เอื้อต่อการเรียนรู้ ตามแนวคิดการพัฒนาทักษะแห่งศตวรรษที่ 21 ให้ได้มากที่สุด
“ห้องเรียนบูรณาการอิสลามศตวรรษที่ 21” เปิดรับนักเรียนเป็นครั้งแรกในปี 2560 โดยเปิดสอนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 จำนวน 1 ห้องเรียน และชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 จำนวน 1 ห้องเรียน และเปิดชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 และ 5 ในปี 2561 ปัจจุบันมีนักเรียนทั้งหมด 120 คน
สร้างพลังการเรียนรู้ สู่ศตวรรษใหม่
สร้างนวัตกรรม หลักสูตรบูรณาการอิสลามศึกษาแบบ Active Learning ครั้งแรก
ใน “ห้องเรียนบูรณาการอิสลามศตวรรษที่ 21” นับเป็นครั้งแรกที่เกิดการบูรณาการวิชาสามัญและวิชาศาสนาเข้าด้วยกัน เรียนเป็นหน่วยบูรณาการสหสาขาวิชาที่เชื่อมกับแนวคิดหลักศตวรรษที่ 21 และใช้การเรียนการสอนแบบ Active Learning
การบูรณาการลักษณะนี้ นอกจากจะทำให้ผู้เรียนเข้ามาเป็นผู้มีส่วนร่วมในการเรียนรู้ (Active learner) แล้ว ยังสามารถจัดการเรียนการสอนให้เรียนรู้หลายวิชาร่วมกัน ทำให้ลดจำนวนคาบเรียนลงได้
เชื่อมการเรียนรู้สู่ชุมชน
เนื่องจากปัญหาความไม่สงบในพื้นที่ ก่อนหน้านี้โรงเรียนจึงไม่เคยนำนักเรียนลงศึกษาเรียนรู้ในชุมชน แต่ หลังจากเข้าร่วมโครงการฯ คุณครูและผู้บริหารได้เห็นความสำคัญของการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ที่เชื่อมโยงกับชุมชน และได้พานักเรียนลงพื้นที่ชุมชนเป็นครั้งแรก ในปี 2559 ซึ่งนับเป็นประสบการณ์ที่มีคุณค่า จากการที่ได้เห็นคนในชุมชนตอบรับอย่างดี และตื่นตัวอยากให้นักเรียนมาเรียนรู้ ยิ่งเน้นให้ครูเห็นความสำคัญของการที่นักเรียนได้รู้จักเรื่องราวของชุมชนตนเองและเชื่อมโยงตนเองกับท้องถิ่นได้
ในปีต่อมาหน่วยการเรียนรู้จึงถูกออกแบบให้สัมพันธ์กับบริบทของชุมชนรอบโรงเรียน

สร้างหัวใจใฝ่เรียนรู้ สร้างทีมครูเข้มแข็ง
ครูของ “ห้องเรียนบูรณาการอิสลามศตวรรษที่ 21” ไม่ได้สอนเพียงคนเดียว แต่ได้นำวิธีการสอนเป็นทีม (Team Teaching) มาใช้ ซึ่งนอกจากช่วยกระตุ้นชั้นเรียนให้มีชีวิตชีวา แล้วการสอนเป็นทีมยังช่วยให้ครูหลายคนช่วยกันสังเกตพฤติกรรมการเรียนรู้ของผู้เรียนได้ชัดเจนยิ่งขึ้น ครูได้พูดคุยกันมากขึ้น ร่วมกันเตรียมการสอน และร่วมกันสะท้อนความคิดเห็นต่อการจัดการเรียนการสอนระหว่างเพื่อนครู จนเกิดเป็นทีมครูที่เข้มแข็งและพร้อมที่จะพัฒนาตัวเองอยู่ตลอดเวลา
สร้างการเปลี่ยนแปลง สร้างทักษะศตวรรษใหม่ในผู้เรียน
การเรียนแบบ Active Learning ที่นักเรียนได้เรียนรู้จากการทำงานเป็นกลุ่ม ค้นคว้าร่วมกัน นำเสนอ สื่อสารความคิด ในรูปแบบต่างๆ เช่น การแสดงละครเวที การทำภาพยนตร์สั้น การทำผลงานประติมากรรม Pop-up และการจัดนิทรรศการ ฯลฯ กิจกรรมเหล่านี้ ช่วยให้นักเรียนได้พัฒนาทักษะศตวรรษที่ 21 เช่น ทักษะการสื่อสาร การทำงานร่วมกัน และการคิดเชิงสร้างสรรค์ ในทุกคาบเรียน
ตลอดปีการศึกษาที่ผ่านมา นักเรียนของ “ห้องเรียนบูรณาการอิสลามศตวรรษที่ 21” ได้แสดงให้เห็นถึงความเปลี่ยนแปลงในทุกด้าน พวกเขาสนใจการเรียนมากขึ้น มีความสุขในการไปโรงเรียน เฝ้ารออย่างตื่นเต้นว่าจะได้เรียนอะไรในคาบต่อไป รวมทั้งมีทักษะที่พร้อมจะรับมือกับโลกอนาคตที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว
ปัจจุบัน “ห้องเรียนบูรณาการอิสลามศตวรรษที่ 21” ยังไม่ได้จดทะเบียนเป็นหลักสูตร แต่มีแนวโน้มที่จะพัฒนาเป็นหลักสูตรอย่างเป็นทางการในอนาคต ผู้บริหารและครูของโรงเรียนศาสนศึกษายังคงมุ่งมั่นพัฒนาห้องเรียนและหลักสูตรให้ส่งผลดีต่อผู้เรียนยิ่งขึ้น และหวังจะขยายผลไปยังชั้นเรียนอื่นๆ ในโรงเรียน ต่อไป