ห้องเรียนแห่งอนาคตในมุมมองของนักการศึกษา

เมื่อเอ่ยถึง “ห้องเรียนแห่งอนาคต” หลายคนอาจนึกถึงการเปลี่ยนแปลงที่จับต้องได้ ทั้งการจัดวางของโต๊ะและเก้าอี้ ไปจนถึงนำเทคโนโลยีมาเป็นส่วนหนึ่งของการสอน ซึ่งแน่นอนว่าสิ่งเหล่านั้นคือปัจจัยสำคัญที่เอื้อต่อการเรียนรู้ของนักเรียน แต่สิ่งที่จำเป็นไม่น้อยไปกว่าการเปลี่ยนแปลงในเชิงกายภาพก็คือ การปรับเปลี่ยน “กระบวนการ” ให้ส่งเสริมบรรยากาศการเรียนรู้อันเปิดกว้าง

จากครูที่เคยเป็นผู้รู้และผูกขาดความถูกต้อง ก็เปลี่ยนบทบาทมาเป็นที่ปรึกษาคอยสนับสนุนความคิดริเริ่มของนักเรียน เมื่อครูเปิดโอกาสให้นักเรียนได้คิดโดยไม่มีคำว่าถูกหรือผิดมากำกับ จินตนาการของพวกเขาจะทำงานได้อย่างเต็มที่ ซึ่งนั่นหมายถึงจุดเริ่มต้นของความเป็นไปได้อีกมากมาย

จากนักเรียนที่เคยก้มหน้าก้มตาท่องทฤษฎีในตำรา ก็เปลี่ยนมาเรียนรู้ปัญหาจากพื้นที่จริงๆ ซึ่งประสบการณ์ตรงจะมอบความรู้ที่ลึกซึ้งกว่าเพียงอ่านและฟังอยู่ในห้องสี่เหลี่ยม และการใส่ใจสิ่งที่เกิดขึ้นกับชุมชนรอบๆ จะทำให้พวกเขาตระหนักถึงความเชื่อมโยงของตัวเองและผู้อื่น ตัวเองกับสังคม และตัวเองกับโลกใบนี้

รับฟังมุมมองจากนักการศึกษาทั้งสามคนที่มีต่อ “Samsung Smart Learning Center” โครงการที่ริเริ่มต้นแบบ “ห้องเรียนแห่งอนาคต” ผ่านการเปลี่ยนแปลงทั้งในเชิง “กายภาพ” และ “กระบวนการ” ซึ่งเป็นสิ่งที่สอดคล้องกับพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ และยังตอบโจทย์การปฏิรูปการศึกษาอีกด้วย